เที่ยวเมืองไทย เที่ยวเมืองตาก

 

อำเภอบ้านตาก

  อำเภอบ้านตาก สันนิษฐานว่าคือตัวเมืองตากเดิม เป็นเมืองหน้าด่านสำหรับป้องกันข้าศึกศัตรูมาแต่ดึกดำบรรพ์ ตั้งอยู่บนดอยเล็กๆ ลูกหนึ่ง ปัจจุบันคือบ้านท่าพระธาตุ หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะตะเภา อยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำปิง ต่อมาสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ย้ายเมืองตากจากที่เดิมมาอยู่ที่ตำบลป่ามะม่วง อำเภอเมืองตาก และในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ย้ายเมืองตาก
ไปอยู่ที่ตำบลระแหง อำเภอเมืองตาก ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ซึ่งเป็นที่ตั้งตัวจังหวัดตากในปัจจุบันนี้

              

 

เมื่อได้ย้ายเมืองตากไปตั้งที่ใหม่แล้ว ไม่อาจทราบได้ว่า สภาพของเมืองตาก เดิมจะมีฐานะเป็นอำเภอ ตำบลหรือหมู่บ้าน แต่พอจะมีหลักฐานว่า ที่ว่าการอำเภอบ้านตากได้ตั้งขึ้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ในท้องที่หมู่ที่ 8 ตำบลตากตกในปัจจุบันเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2438 ถึง 2440 โดยมี หลวงพรมสุภา (นายโต กาญจนสูต)เป็นนายอำเภอคนแรก มีพื้นที่ทำการปกครองรวมทั้งท้องที่อำเภอสามเงาในปัจจุบันเข้าไว้ด้วย ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2475 ทางราชการได้ยกฐานะตำบลสามเงาขึ้นเป็นกิ่งอำเภอขึ้นกับอำเภอบ้านตาก และทางราชการได้ยกฐานะกิ่งอำเภอสามเงาขึ้นเป็นอำเอสามเงาในโอกาสต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2501

              

 

ในปี พ.ศ. 2445 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 9 ตำบลตากตก สภาพตัวอาคารที่ว่าการอำเภอในสมัยนั้นเป็นบ้านไม้เรือนไทยทรงปั้นหยา คับแคบ ไม่สามารถที่จะขยายให้เพียงพอกับประมาณงานและเจ้าหน้าที่ได้ ในปี พ.ศ. 2451 ทางราชการจึงได้สร้างอาคารที่ว่าการอำเภอบ้านตากขึ้นใหม่ ในที่ดินด้านใต้ ใกล้กับที่ว่าการอำเภอหลังเดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ตามแบบของ ทางราชการ ส่วนเรือนไม้เดิมใช้เป็นบ้านพักของนายอำเภอต่อไป

 

              

 

 ครั้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2505 พลเอกถนอม กิตติขจร (ยศในขณะนั้น) รองนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการพัฒนาภาคเหนือ พร้อมด้วย นายพ่วง สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มาตรวจราชการ เห็นว่าอาคารที่ว่าการอำเภอบ้านตากมีสภาพคับแคบและชำรุดทรุดโทรมมาก ต้องใช้ไม้ค้ำยัน
เกรงว่าอาจจะเกิดอันตรายแก่เจ้าหน้าที่และประชาชนที่มาติดต่อราชการได้ จึงสั่งให้รื้อถอนโดยรับว่าจะสร้างใหม่ในโอกาสต่อไป จึงได้ทำการรื้อถอนและ ได้อาศัยหอประชุมอำเภอ “ราษฎรอุทิศ” เป็นที่ทำการชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

              

 

ต่อมา กรมการปกครองได้อนุมัติเงิน จำนวน 300,000 บาท เพื่อก่อสร้างที่ว่าการอำเภอใหม่
แต่เมื่อได้พิจารณาแล้วเห็นว่า บริเวณที่ว่าการอำเภอเดิมนั้น มีอาณาบริเวณคับแคบ มีเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่ และที่ดินเป็นรูปเสี้ยว ด้านหน้าติดกับถนนริมน้ำปิง ด้านหลังติดลำห้วยตาก ไม่สามารถจะขยายให้กว้างขวางสร้างความเจริญและตกแต่งให้บังเกิดความสง่าสวยงามสมกับเป็นสถานที่ราชการสำคัญของอำเภอได้ ประกอบกับการไปมาติดต่อราชการในสมัยนั้น ไม่มีทางคมนาคมที่จะติดต่อกับจังหวัดได้ จำเป็นต้องใช้เรือข้ามแม่น้ำปิงไปยังฝั่งตะวันออก ซึ่งมีรถยนต์ผ่าน ทำให้เสียเวลาไม่สะดวกรวดเร็วและเสี่ยงอันตราย

           

 

    ด้วยการมองอนาคตที่จะให้เกิดความเจริญแก่ท้องถิ่น ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา การปกครอง การปราบปรามโจรผู้ร้าย และการติดต่อราชการ เกิดความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นายสุรินทร์ จำปาทิพย์ นายเขียว พรมรอง นายจำนงค์ สมอคำ และนายอำนวย ยมเกิด ได้ยื่นความจำนงว่า จะจัดหาที่ดินให้กับทางราชการเพื่อสร้างที่ว่าการอำเภอ สถานที่ราชการอื่นๆ และบ้านพักข้าราชการให้จำนวน 1 แปลง มีเนื้อที่ประมาณ 34 ไร่เศษ ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก อยู่ริมถนนพหลโยธิน (สายเดิม) ตรงหลัก กม. 442 อำเภอได้พิจารณา แล้วเห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าว จึงรายงานให้จังหวัดพิจารณาดำเนินการต่อไป

              

 

ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2506 กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติให้สร้างที่ว่าการอำเภอบ้านตาก ในที่ดินแปลงที่ นายสุรินทร์ จำปาทิพย์ กับพวกได้เสนอให้ เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนมิถุนายน 2506 สร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนธันวาคม 2506 ได้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2506 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด (ร.ต.ท. ระดม มหาศรานนท์) เป็นประธานในพิธี ใช้เป็นสถานที่ราชการต่อมาจนทุกวันนี้

อ้างอิง:www.tak.go.th

Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  7,759
Today:  7
PageView/Month:  39

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com